ประวัติอำเภอย่านตาขาว
"ย่าน" ความหมายที่ 1 หมายถึง แถว, ถิ่น เช่น เขาเป็นคนย่านนี้, บริเวณ เช่น ย่านบางลำพู ย่านสำเพ็ง, ระยะทางตามกว้างหรือยาวจากตำบลหนึ่งไปตำบลหนึ่ง
"ย่าน" ความหมายที่ 2 หมายถึง เครือเถา เช่น ย่านวันยอ ย่านลิเภา, เรียกรากไทรที่ย้อยลงมาว่า ย่านไทร
"ย่าน" ความหมายที่ 3 หมายถึง ยั่น
พยางค์ที่สอง คือ "ตาขาว" ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง แสดงอาการขลาดกลัว
ดังนั้น "ย่านตาขาว" น่าจะมาจากคำว่า "ย่าน" กับ "ตาขาว" มาผสมคำเรียกเป็น "ย่านตาขาว" เพราะมีประวัติกล่าวกันว่าตลาดย่านตาขาวมีภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม ปีละ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งน้ำจะท่วมอย่างรวดเร็ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ ต่างได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมเป็นอย่างมาก ต้องเหน็ดเหนื่อยวุ่นวายกับการขนย้ายทรัพย์สิน สัตว์พาหนะ และสัตว์เลี้ยงไปไว้ที่ปลอดภัย สาเหตุที่น้ำท่วมแทบทุกปีเพราะตลาดย่านตาขาว มีคลองใหญ่ซึ่งมีแคว 3 แค ใกล้ ๆ ตลาดย่านตาขาว เมื่อถึงฤดูฝนจึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ผู้อาศัยอยู่บริเวณนี้ต้องตื่นตัวระมัดระวังภัยอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเพียงคำสันนิษฐานเท่านั้น
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง ชื่อบ้านย่านตาขาวนี้ มิได้หมายความว่า คนตาขาวอยู่ในย่านนี้ แต่มีที่มาของชื่อว่าเดิมทีพื้นที่ของอำเภอย่านตาขาว ซึ่งต่อเขตแดนกับอำเภอปะเหลียน มีลำคลองไหลผ่านย่านตาขาวหลายสาย เช่น คลองปะเหลียน คลองโพรงจระเข้ คลองพิกุล ไหลผ่านตำบลต่าง ๆ ในอำเภอย่านตาขาว ประชาชนปลูกบ้านเรือน ทำมาหากิน แถบริมลำคลอง ซึ่งรกไปด้วยต้นไม้และเถาวัลย์ที่ขึ้นตามริมคลองชนิดหนึ่ง เรียกว่า "เถาว์ตาขาว" เมื่อราษฎรเข้าไปตัด ถาก ถาง ต้นไม้ริมคลอง เพื่อเพาะปลูกและเพื่อปลูกที่อยู่อาศัย จึงตัดโดนเถาวัลย์นี้ด้วย เมื่อตัดเถาวัลย์นี้จะมีน้ำสีขาวไหลออกมาจากตาของเถาวัลย์เหมือนร้องไห้ คนปักษ์ใต้เรียกเถาวัลย์ว่า "ย่าน" และ เรียกชื่อพันธุ์ไม้นี้ว่า "ตาขาว" จึงรวมเรียกว่า "ย่านตาขาว" แล้วนำมาเรียกเป็นชื่อบ้านนี้ว่า "บ้านย่านตาขาว"
อีกลักษณะหนึ่ง การปลูกบ้านริมคลองมีจำนวนมากขึ้นเป็นชุมชน ผู้คนเรียกชุมชนนั้นว่า "ย่าน" และ นำชื่อเถาวัลย์ที่มีมากในแถบนั้น คือ เถาว์ตาขาว มาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านย่านตาขาว" จนถึงทุกวันนี้ เรื่องนี้เป็นการบอกเล่าต่อกันมา ข้อมูลจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น (จากการสอบถามนายคล้าย มูลเมฆ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2548)
ในปีพ.ศ. 2499 ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอย่านตาขาว มีความเจริญขึ้นพอสมควร มีประชาชนพลเมืองหนาแน่น การคมนาคมระหว่างกิ่งอำเภอ จังหวัด สะดวกและใกล้กว่าจะต้องผ่านไปอำเภอกันตัง จึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอย่านตาขาว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 และย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอเดิมไปปลูกสร้างขึ้นใหม่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน
• ช่วงที่ 1 บ้านย่านตาขาว (ก่อน พ.ศ. 2430)
• ช่วงที่ 2 ชุมทางการค้าย่านตาขาว (ประมาณ พ.ศ. 2430 – 2460)
• ช่วงที่ 3 ย่านตาขาวริมถนน ตรัง – ปะเหลียน (ประมาณ พ.ศ. 2460 – 2470)
• ช่วงที่ 4 ย่านตาขาวริมถนนสายรอง (ประมาณ พ.ศ. 2470 – 2500)
• ช่วงที่ 5 อำเภอย่านตาขาว ( ประมาณ พ.ศ. 2500 – 2530)
• ช่วงที่ 6 ย่านตาขาวในปัจจุบัน (พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน)
โดยจากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม คำว่า เมืองปะเหลียนนั้นหลายท่าน สันนิษฐานว่าเป็นคำที่มาจากภาษามาลายู จากคำเดิมว่า “ปราเลียน” แปลว่า ทอง หรือมาจากคำว่า “ปะเหรียญ” หรือเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ปลันดา” เพราะปรากฏตามหลักฐานว่าเคยเป็นเมืองท่าโบราณทางฝั่งทะเลอันดามันในจดหมายเหตุของปะโตเรมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ราวพุทธศตวรรษที่ 8 เรียกว่า “ป้อลันดา” ซึ่งเป็นเมืองท่าสามารถที่จะข้ามแดนจากเมืองปะเหลียนมายังพัทลุง ในสมัยอยุธยาเมืองปะเหลียนเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง และเป็นเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าเมืองพัทลุงส่งกรมการเมืองมาปกครองต่อมายกฐานะเป็นเมืองและมีเจ้าเมืองปกครอง ในช่วง พ.ศ. 2366 ย้ายที่ทำการเมืองไปอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลบ้านนา เจ้าเมืองปะเหลียนที่ทางเมืองพัทลุงส่งไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองปะเหลียนคนสุดท้าย ราว พ.ศ. 2412 ถึง 2434 ชื่อพระปริยันต์เกษตรานุรักษ์ (ทองขาว) เป็นบุตรพระยาพัทลุงหรือพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดีพิยพาหะ (ทับ) ใน พ.ศ. 2430 ย้ายเมืองไปตั้งที่หมู่ที่หนึ่งตำบลท่าพญา ในราว พ.ศ. 2434 ได้ยกเมืองปะเหลียนตั้งเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอท่าพญา ขึ้นตรงกับจังหวัดตรัง ใน พ.ศ. 2440 ย้ายจากตำบลท่าพญาไปตั้งที่บ้านหยงสตาร์หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้ามเปลี่ยนชื่อจากอำเภอท่าพญาเป็นอำเภอปะเหลียน ใน พ. ศ. 2450 ย้ายจากบ้านหยงสตาร์ไปตั้งที่ตลาดท่าข้ามหมู่ที่ 1 ตำบลท่าข้าม เมื่อวันที่ 24 เมษายนพ.ศ. 2460 และเปลี่ยนชื่ออำเภอปะเหลียนเป็นอำเภอหยงสตาร์ ต่อมาวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2481 ทางราชการก็ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอหยงสตาร์เป็นอำเภอปะเหลียนตามเดิมและตั้งอยู่ที่ตลาดท่าข้ามจนถึงปัจจุบันนี้
หากพิจารณาตามประวัติของเมืองปะเหลียนแล้วจะพบว่าใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระบรมราชโองการให้ลดฐานะเมืองปะเหลียนมาเป็นแขวงเรียกว่า แขวงท่าพระยา มีราชการขึ้นต่อเมืองตรัง นิราศเรื่องนี้จึงจะต้องแต่งก่อนปี พ. ศ. 2434 เพราะผู้แต่งไปเมืองปะเหลียนตามไปบอกของเจ้าเมืองปะเหลียน คือ พระปริยขันต์เกษตรานุรักษ์ (ทองขาว) ก่อนเดินทางไปรับตราตรั้ง ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเทียบปีศักราชแล้วว่าปีใดบ้างที่ตรงกับปีเถาะก่อน พ.ศ. 2434 ก็จะตรงกับปีเถาะ พ.ศ. 2410 ปีเถาะ พ.ศ. 2422 ปีเถาะ พ.ศ. 2434 และตามหนังสือตรวจสอบประวัติพระยาโสภณพัทลุงกุล เพื่อรับเบี้ยเลี้ยงบำนาญของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติว่า พระยาโสภณพัทลุงกุลเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ. ศ. 2421 ในปีเถาะ พ.ศ. 2410 นั้นพระยาโสภณพัทลุงคุณมีอายุแค่ 15 ปี และ ปี พ.ศ. 2434 เดือนอ้ายขึ้นสามค่ำตรงกับวันพฤหัสบดีไม่ใช่วันเสาร์ตามที่กล่าวไว้ในนิราศ ความว่า
“ ... ถ้าแม้นผิดกิจราชการแล้ว ไม่คลาดแคล้วอุ่นเรือนเจ้าเพื่อนเข็ญ
พระศุกร์เข้าคราวเคราะห์จำเพาะเป็น ทุกเช้าเย็นเว้นสวาทขาดประโลม
วันเสาร์เดือนอ้ายยามขึ้นสามค่ำ ปีเถาะจำใจร้างห่างเชยโฉม
เข้านั่งแอบแนบสมรกรตระโบม แม่อย่าโทมนัสพี่จะลา ...”
ปีที่แต่งนิราศเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นปี พ. ศ. 2422 ดังที่กล่าวมาแล้ว นิราศเมืองปะเหลียนเป็นเสมือนจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางและสิ่งที่กวีได้พบเห็น สาเหตุสำคัญที่กวีต้องเดินทางไปเมืองปะเหลียนก็เพราะมีใบบอกมาจากพระปะเหลียนเพื่อปรึกษาราชการและขึ้นไปรับท้องตราเป็นหลวงนาที่กรุงเทพมหานคร ตามที่พระปะเหลียนได้ฝากฝังไว้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยเดินทางด้วยช้างไปพร้อมกันคุณโต (พระยาศิรินทรเทพสัมพันธ์ ต้นตระกูล ศิริธร) พร้อมด้วยพวกบ่าวไพร่ กวีออกเดินทางผ่านศาลหลักเมืองหรือเมืองเก่าพัทลุงที่ลำปำ มาถึงวัดวังพบกับคณะที่จะร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ ผ่านวัดเบิก บ้านรักหมู่ บ้านหัวควน บ้านแร่ บ้านควนมะพร้าว บ้านทุ่งไหม้ บ้านคูหา บ้านเขากัง บ้านนางลาด บ้านเขาเจียก บ้านนาทุ่ม บ้านหนองปราง บ้านลำกะ บ้านขุนไกรพลเดช วัดบ้านนา บ้านนาวง สำนักต้นมะปราง ที่น้ำราบ ยอดเขาพระ ด่านช่อง บ้านลำสุไหง บ้านช้องหาย บ้านส้มมะเฟือง บ้านพระ บ้านหินขวาง บ้านนา ซึ่งเป็นที่ตั้งทำเนียบหรือจวนของเจ้าเมืองปะเหลียนในช่วง พ.ศ. 2366 - 2430 (เมืองปะเหลียนตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนา) การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากต้องผ่านป่าเขาและเส้นทางที่สูงชันเมื่อถึงทำเนียบพระปะเหลียนแล้วก็ได้ปรึกษาข้อราชการและในครั้งนี้พระปะเหลียนต้องการให้กวีเดินทางไปกรุงเทพมหานคร เพื่อรับท้องตราเป็นหลวงนาหรือจอมนาด้วย (ตำแหน่งนี้เดิมเรียกว่าหลวงทิพมนตรีศรีสมโภชน์กรมนา) ตามที่พระปะเหลียนได้ฝากฝังกับหัวหน้ากระทรวงในกรุงเทพมหานครไว้แล้ว กวีจึงได้ออกเดินทางจากเมืองปะเหลียนโดยเรือเล็กผ่านบ้านหยงสตาร์ บ้านหัง แขวงเมืองละงูและนั่งเรือแสมไปยังเกาะหมากและต่อไปถึงเกาะสิงค์โปร์เส้นทางการเดินทางตามนิราศเมืองปะเหลียนของพระยาโสภณพัทลุงกุล
จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากนิราศเมืองปะเหลียนของพระยาโสภณพัทลุงกุลซึ่งบรรยายสภาพบ้านเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2422 ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณริมคลองปะเหลียนบริเวณที่เชื่อมต่อกับปากคลองพิกุลฝั่งทิศเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองย่านตาขาวในปัจจุบัน ในขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านที่มีบ้านชาวบ้านตั้งอยู่จำนวนน้อยมากกระจัดกระจายในพื้นที่ป่าและพื้นสวนผลไม้ ไม่มีความสำคัญในฐานะเมืองเนื่องจากโดยปกติการเดินทางเพื่อไปราชการต่างเมืองมักจะเลือกพักอาศัยในชุมชนหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นเมืองมากกว่าชนบท หรือพักอาศัยกับวัดระหว่างเส้นทาง แต่เมื่อพิจารณาเส้นทางการไปราชการในครั้งนี้ ผู้เดินทางเลือกที่จะพักอาสัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง เช่น วัดลำสุไหง (ปัจจุบัน คือ วัดลำไห) บ้านช้องหาย (ปัจจุบัน คือ บ้านช่องหาย) และ วัดส้มมะเฟือง (ปัจจุบัน คือ วัดควนวิไล) แต่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อ “ย่านตาขาว” เลย และเมื่อเทียบเคียงกับประวัติการสร้างวัดนิกรรังสฤษฎ์หรือวัดย่านตาขาว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนย่านตาขาวในอดีตพบว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2454 ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าเมืองย่านตาขาวมีลักษณะเป็นชุมชนหนาแน่นหลัง พ.ศ . 2450 นั่นเอง
การเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณศาลทวดศาลา
โดยตรังเขาคือพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามเส้นทางน้ำคลองลำพิกุลซึ่งมีต้นน้ำมาจากน้ำตกสายรุ้ง และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองย่านตาขาวริมคลองปะเหลียนซึ่งมีต้นน้ำมาจากน้ำตกโตนเต๊ะ สินค้าและทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ จากกลุ่มตรังเขาส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ มูลค้างคาว ขี้ชัน เป็นต้น ส่วนชุมชนตรังป่า ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าริมเส้นทางน้ำสายสำคัญๆ เช่นเดียวกับชุมชนกลุ่มตรังเขา บริเวณเชิงเขาบรรทัด สินค้าส่วนใหญ่เป็นของป่า เช่น สมุนไพรตากแห้ง ไม้หอม และสินค้าจากป่าอื่นๆ ส่วนชุมชนกลุ่มตรังนา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ยบริเวณริมคลองลำชานซึ่งมีต้นน้ำมาจากอุทยานนกน้ำนาโยง บริเวณตำบลเกาะเปียะซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำด้านทิศเหนือของเมืองย่านตาขาว สินค้าที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือก ส่วนชุมชนตรังเล คือพื้นที่ที่ติดทะเลทางด้านทิศใต้ของเมืองย่านตาขาวบริเวณชุมชนหาดสำราญ หยงสตาร์ ทุ่งกระบือ สินค้าที่สำคัญของกลุ่มตรังเล คือ เกลือ ปลาเค็ม กุ้งแห้ง มะพร้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทะเลอื่นๆ สินค้าทั้งหมดจากกลุ่มตรังเขา ตรังป่า ตรังนา และตรังเล จะมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่ตรังหลาดบริเวณที่ตั้งของศาลทวดศาหลา ฝั่งทิศเหนือของคลองปะเหลียนนั่นเอง
ชุมทางการค้าย่านตาขาวบริเวณศาลทวดศาหลาเดิมเป็นเพียงตลาดชั่วคราวมีกิจกรรมการค้าเฉพาะช่วงเวลา จนกระทั่งกิจกรรมการค้าขยายตัวมากขึ้น จึงเกิดเป็นตลาดการค้าขึ้นเป็นชุมชนตลาดหัวสะพานเก่า เป็นถนนที่ตั้งฉากกับคลองปะเหลียนมีการตั้งบ้านเรือนเป็นเรือนแถวไม้กันอย่างหนาแน่น เป็นแหล่งค้าขายสินค้าที่มาจากเมืองตรัง เช่น อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน โดยมีศาลทวดศาลาเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 ปีของการตั้งชุมทางการค้าของชุมชนหัวสะพานเก่าเกิดชุมชนการค้าที่หนาแน่นตลอดแนวถนน จนกระทั่งมีการสร้างถนนสายตรัง-ปะเหลียน บทบาทของการเป็นชุมทางการค้าริมคลองปะเหลียนบริเวณชุมชนหัวสะพานเก่าจึงค่อยลดบทบาทลง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากทางน้ำเป็นทางบกมากขึ้น อย่างไรก็ตามชุมชนตลาดย่านตาขาวที่หัวสะพานเก่าและศาลทวดศาลายังมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองย่านตาขาวในขณะนั้น
ชุมทางการค้าหัวสะพานเก่าริมคลองปะเหลียน ที่มา : คุณจุมพล สุนทรนนท์
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ใน พ.ศ. 2454 มีการสร้างวัดย่านตาขาว (ปัจจุบันคือวัดนิกรรังสฤษฎ์) ขึ้นฝั่งตรงข้ามชุมชนย่านตลาดหัวสะพานเก่า ทำให้เกิดชุมชนเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชาวไทยพุทธขึ้นบริเวณรอบวัดขึ้นอีกชุมชนหนึ่ง
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ชุมชนหัวสะพานเก่า ทำให้เรือนแถวไม้บางส่วนถูกเพลิงใหม้ไปหลายหลัง เป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนตลาดย่านตาขาวเดิมบริเวณชุมชนหัวสะพานเก่ายิ่งซบเซาลงมากกว่าเดิมในขณะที่ชุมชนย่านตาขาวบริเวณริมท่าบันไดกลับมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้นอันเนื่องมาจากการตั้งวัดย่านตาขาว (วัดนิกรรังสฤษฎ์) และการพัฒนาถนนสายตรัง ปะเหลียน ขึ้นนั่นเอง
ชุมทางการค้าริมถนนสายตรังปะเหลียน ที่มา : คุณครูจุรีย์ มุลเมฆ
เรือนแถวไม้ในชุมทางการค้าย่านถนนท่าบันได ที่มา : คุณครูจุรีย์ มุลเมฆ
การพัฒนาถนนสายย่อยซึ่งเป็นแขนงของถนนสายตรัง-ปะเหลียน ทั้ง 4 สาย ทั้งให้เนื้อเมืองย่านตาขาว เริ่มขยายตัวออกไปตั้งอยู่ริมถนนสายย่อยเหล่านี้มากขึ้นโดยเฉพาะริมถนนท่าบันได เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับท่าเรือออกสู่ทะเทที่ท่าบันไดหรือทุ่งกระบือ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นมีโรคระบาดในเมืองย่านตาขาวชาวจีนในพื้นที่ ได้อัญเชิญถ้วยธูปจากศาลเจ้า 108 – 109 ที่ชุมชนหินคอกควาย ตำบลบ้านนา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มาเพื่อตั้งศาลเจ้า 109 ที่ริมถนนท่าบันได เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใตของชาวบ้านในเมืองย่านตาขาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาปรากฏในเขตเมืองย่านตาขาวมากเป็นอันดับ 2 รองจากทวดศาลา ศาลเจ้าพระ 109 ชุมชนริมถนนท่าบันไดในขณะนั้นถือเป็นชุมชนหนาแน่นและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักอย่างมากมีอาคารเรือนแถวไม้ตั้งอยู่เรียงรายริมถนนท่าบันไดโดยเฉพาะบริเวณทางแยกสู่นนตรัง – ปะเหลียน แต่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ชุมชนท่าบันไดทำให้บ้านแถวไม้เดิมถูกเพลิงไหม้เกือบทั้งหมดและเจ้าของพื้นที่คือกรมธนารักษ์ได้สร้างอาคารพาณิยช์โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นมาแทนที่ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน
ในช่วงเวลานี้เมืองย่านตาขาวมีการขยายตัวค่อนข้างมากแต่การขยายตัวของเมืองเป็นการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นในพื้นที่ตลาดสดย่านตาขาวซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายตรัง – ปะเหลียน ปัจจัยของการตั้งตลาดทำให้เกิดชุมชนเมืองหนาแน่นด้านหลังของตลาดสด ซึ่งในระยะแรกๆ การกระจุกตัวของบ้านเรือนและร้านค้าจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ระหว่างถนนวรคีรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4124) และถนนสุนทรนนท์ (ถนนในควน) รูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในย่านนี้มีโครงสร้างแบบตาราง (Grid System) ซึ่งเป็นรูปแบบโครงสร้างชุมชนที่พบเห็นได้ทั่วไปในย่านพาณิชยกรรมของเมือง ส่วนในระยะหลังชุมชนตลาดย่านตาขาวเริ่มขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ทางด้านทิศเหนือระหว่างถนนวรคีรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4124) กับถนนพิกุลทอง (ถนนบ้านย่านตาขาว – วัดพิกุลทอง) ซึ่งการตั้งถิ่นฐานบริเวณมีการกระจุกตัวหนาแน่นน้อยกว่าพื้นที่แรกพอสมควร โดยสรุปแล้วการพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมย้อนหลังไปประมาณ 80-90 ปีก่อนของเมืองย่านตาขาวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปลี่ยนแปลงเมืองย่านตาขาวที่เห็นได้ชัดเจน ทั้งการเปลี่ยนจากการเป็นเมืองฐานน้ำ (Water baesd City) มาเป็นเมืองฐานบกที่เกาะติดกับเส้นถนน และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างของเมืองที่เคยเป็นแบบเส้น (Linear System) เป็นโครงสร้างระบบตารง (Grid System)
ที่มา : คุณกฤติพล ภู่สันติสัมพันธ์ / คุณสุภาวดี แซ่ตั้น
ในช่วง พ.ศ. 2500 – 2530 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนหัวสะพานเก่าประมาณ พ.ศ. 2510 ทำให้เรือนแถวหลายหลังถูกไฟไหม้ทั้งหลัง และถูกสร้างแทนที่ด้านอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแบบสมัยใหม่ ส่วนเพลิงไหม้ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในชุมชนท่าบันได ประมาณ พ.ศ. 2530 เป็นเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ทำให้เรือนแถวไม้ของชุมชนท่าบันไดเกือบทั้งหมดถูกไฟไหม้จนกระทั่งกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแบบสมัยใหม่ขึ้นมาแทนที่อาคารเรือนแถวไม้เดิม