ศาลเจ้าทวดศาหลา
ชื่อรายการ (Name):
หมวดหมู่ (Category):
พิกัดในตำบล (Location):
คำอธิบาย (Description):
ศาลเจ้าทวดศาลาหรือทวดศาหลา เป็นศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณท่าเรือโบราณของเมืองย่านตาขาวซึ่งบริเวณนี้ปัจจุบันตื้นเขินหมดสภาพความเป็นท่าเรือไปแล้วเพราะมีแผ่นดินงอกออกไปจากตัวสถานที่ท่าเรือเดิมถึงประมาณ 50 เมตรแล้วและสภาพตัวแม่น้ำปะเหลียนเองก็แคบลงมีสภาพเป็นเพียงคลองเท่านั้นคนปัจจุบันจึงเรียกว่าคลองย่านตาขาวตัวอาคารศาลเจ้าตั้งอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ประกอบด้วยตัวอาคารศาลเจ้า 2 หลังคือศาลเจ้าหลังเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2493 อยู่ติดซอยสุขาภิบาลหนึ่งและศาลเจ้าหลังใหม่ สร้างเมื่อพ.ศ. 2527 ตั้งอยู่ติดกันถัดไปทางริมคลองนอกจากนั้นยังมีอาคารอเนกประสงค์อีกหนึ่งหลังบริเวณด้านหน้าอาคารศาลเจ้าหลังใหม่จะมีศาลาเล็กๆ เป็นที่ตั้งถ้วยธูปบูชาก่อนเข้าไปในศาลเจ้า ที่เสาทั้งสี่ต้นมีรูปปั้นงูสีดำพันอยู่ โดยถือว่างูนั้นคือสภาพหรือภาคหนึ่งของหวดศาลาส่วนภายในศาลเจ้าหลังใหม่จะมีรูปปั้นทวดศาลาในสภาพหรือภาคที่เป็นมนุษย์โดยนายเซ่ง เตชะภาณุวัฒน์ได้จ้างช่างที่เกาะปีนังปั้นให้ตามภาพนิมิตเมื่อ พ.ศ. 2493 ตอนแรกตั้งที่ศาลเจ้าเก่าพอศาลใหม่เสร็จจึงอัญเชิญมาไว้ที่ศาลหลังใหม่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นภายในศาลมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานอยู่ทางมุมขวาของศาลหรือด้านซ้ายมือของทวดศาลาและมีวัตถุโบราณที่แสดงถึงความเก่าแก่ของศาลเจ้าคือมีถ้วยหรือกระถางธูปดั้งเดิมที่ใช้บูชาแรกเมื่อทวดศาลาปรากฏขึ้นที่ย่านตาขาวเป็นกระถางธูปที่ถูกสะกัดจากหินแกรนิตทั้งก้อนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งต่างจากกระถางธูปทั่วไปที่มีลักษณะทรงกลมทำด้วยทองเหลือง ปัจจุบันกระถางธูปนี้ได้เก็บไว้จะนำมาใช้เฉพาะในพิธีใหญ่ของศาลเจ้าเท่านั้น
ทวดศาลาหรือศาหลาตามสำเนียงภาษาใต้ หมายถึงทวดหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลานั่นเองเกิดจากความเชื่อในการนับถือทวดงูที่อยู่ในศาลาใต้ต้นไทรตรงท่าเรือโบราณของชุมชนย่านตาขาว เดิมตั้งอยู่ด้านหลังของศาลเจ้าปัจจุบันคือด้านหน้าติดกับซอยสุขาภิบาลหนึ่ง เดิมเป็นศาลาไม้หลังคามุงจากปัจจุบันได้ผุพังไปหมดแล้ว เมื่อทวดงูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลเจ้าที่นี่จึงเรียกว่าทวดศาลาหรือศาหลา ต่อมาได้อัญเชิญมาไว้ที่ศาลเจ้าหลังใหม่ซึ่งไม่มีสภาพเป็นศาลาแบบเดิมแต่มีรูปอาคารเป็นศาลเจ้าแบบจีนแต่ยังคงเรียกว่าทวดศาลาติดปากกันมาเรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนแปลง บริเวณนี้สมัยโบราณเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวย่านตาขาวมีสภาพเป็นท่าเรือมีเรือมาจอดเทียบท่าบริเวณหลังต้นไทร ส่วนด้านหน้าของต้นไทรเป็นที่ตั้งของศาลาที่ประทับของทวดงูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถัดไปหน้าศาลาจะเป็นตลาดนัดของชุมชนย่านตาขาวแห่งแรกเมื่อสมัยโบราณ ดังนั้นจึง กล่าวได้ว่าตลาดนัด ศาลาทวด และท่าเรืออยู่บริเวณเดียวกันมานานแล้วตั้งแต่ชุมชนบริเวณนี้ขึ้นกับเมืองปะเหลียน ส่วนการกำเนิดทวดศาลาจะมีเมื่อใดไม่มีใครสามารถบอกได้ แต่จับใจความจากผู้รู้คนเฒ่าคนแก่และคนทรงทวดศาลาว่า ทวดศาลาอยู่คู่กับชุมชนย่านตาขาวมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่น้อยกว่า 500 ปีแล้ว โดยตามตำนานกล่าวว่ามีชาวอินโดนีเซียไม่ทราบชื่อนับถือศาสนาอิสลามลงเรือเดินทางมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทางทิศใต้ของชุมชนย่านตาขาวเป็นคนที่เล่นคาถาอาคมเชื่อในไสยศาสตร์ เมื่ออายุมากขึ้นเริ่มมีเกล็ดขึ้นตามผิวหนังลำตัว พออยู่ๆ ไปท่านก็นึกได้ว่าท่านอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้วเพราะถ้าพี่น้องลูกหลานมาเห็นเข้าจะตกใจเพราะท่านรู้ตัวว่ากำลังจะกลายเป็นทวดงูจึงปลีกตัวไปอยู่คนเดียวที่เกาะนางเรียมปัจจุบันคือบริเวณป่าช้าเหนือบ้านของปะเหลียน หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาวจั งหวัดตรังนั่นเอง ในที่สุดท่านก็ได้กลายร่างเป็นทวดงูหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏให้คนเห็นในสภาพของงูขนาดใหญ่สีดำเมื่อชาวบ้านทราบว่าท่านกลายร่างเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ จึงมีการสร้างศาลาให้ที่ใต้ต้นไทรดังกล่าวเชิญท่านมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาใต้ต้นไทรเป็นที่นับถือบูชาตั้งแต่นั้นมา และเนื่องจากทวดศาลาไม่ได้แก่ตายแต่ได้กลายร่างเป็นงูทางญาติพี่น้องของท่านจึงทำพิธีฝังศพเทียมของท่านตามพิธีกรรมของอิสลาม โดยหลุมศพเทียมหรือหลุมศพแต่ไม่ได้มีศพอยู่จริงจะถูกฝังไว้ที่เรียกว่าเปลวแขกเทศ ด้านหลังโกดังเก็บสินค้าร้านเล้งพาณิชย์ริมคลองย่านตาขาวตำบลท่าพญา อำเภอปะเหลียน ซึ่งจะมีหลักฐานเป็นหลักชันหรือหัวตาหนาของท่านปรากฏอยู่
ในสมัยก่อนทวดศาลาเป็นที่เคารพบูชานับถือมากได้เดินทางผ่านเส้นทางนี้ต้องหยุดบูชาตัวเสียก่อนแม้แต่คณะหนังตะลุงหรือมโนราห์ถ้าผ่านมาจะไปแสดงที่ใดจะต้องหยุดแสดงหน้าศาลาทวดให้ทวดชมเสียก่อนโดยทวดจะมาปรากฏกายให้เห็นในรูปงูใหญ่สีดำและเป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่โบราณเท่าที่คนแก่คนเฒ่าจำความได้บอกว่าบริเวณท่าน้ำศาลาทวดจะไม่พบเด็กหรือใครที่มาอาบน้ำแล้วจะจมน้ำตายเลยเพราะเชื่อว่าทวดศาลาให้ความคุ้มครองอยู่ถ้ามีใครมาบูชาหรือแล้วแต่โอกาสความพอใจของท่านท่านจะปรากฏกายให้เห็นและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ร้อนที่มาขอความช่วยเหลือจากท่านด้วยการบนบานสานกล่าว ต่อมาภายหลังคนไม่มีคุณธรรมท่านจึงไม่ปรากฏกายให้เห็นอีกเลยเพราะคนที่มาบนบานท่านได้ช่วยเหลือให้ผลทุกข์เคราะห์ภัยไข้เจ็บแล้วไม่กลับมาบูชาท่านเพื่อแก้บนตามสัญญา
ต่อมาราวพ.ศ. 2493 มีคนจีนในย่านตลาดย่านตาขาวในนามกระถางธูปหินแกรนิตรูปสี่เหลี่ยมดั้งเดิมของทวดศาลาไปทำพิธีเชิญท่านมาเข้าทรง และซื้อหวยใต้ดินถูกจนร่ำรวยไหนึ่งในนั้นคือ นายเซ่ง เตชะภาณุวัฒน์ ก็ได้ถูกหวยตามที่ทวดบอกและเป็นคนทรงทวดศาลาคนแรกในยุคหลังนี้ จึงได้ก่อสร้างอาคารศาลเจ้าทวดศาลาขึ้นด้านหลังศาลาหลังเดิมเป็นรูปศาลเจ้าแบบจีนใน พ.ศ. 2493 พร้อมกับได้จ้างช่างที่เกาะปีนังปั้นรูปทวดศาลาไว้บูชาดังกล่าวและตั้งแต่มีการสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ขึ้นมาแล้วความศักดิ์สิทธิ์ของตัวศาลาก็ได้รับการฟื้นฟูรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากการบูชาได้ซบเซาไปนาน ปัจจุบันชาวบ้านเชื่อว่าทวดดศาลามีความศักดิ์สิทธิ์จึงมาเคารพบูชาให้ท่านเข้าทรงเพื่อปัดเป่าทุกข์ภัยและสะเดาะเคราะห์บนบานให้หายป่วยไข้ รักษาไข้เจ็บ รวมทั้งการขอโชคดี สำหรับงานบูชาทวดศาลาประจำปีคือการจัดงานฉลองวันเกิดทวดศาลาตรงกับวันที่ 27 สิงหาคมของทุกปี มีการเข้าทรง กินเจ ลุยไฟ เป็นต้น นับได้ว่าทวดศาลาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองย่านตาขาวอย่างแท้จริง